เมื่อวันที่
20 ก.พ. 2022

ป้ายกำกับ

คณะวจก. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดึงอุโมงค์ปิยะมิตร 1 เบตง ดันเป็นต้นแบบการบริหาร


คณะวจก. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดึงอุโมงค์ปิยะมิตร 1 เบตง ดันเป็นต้นแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามศาสตร์พระราชา

   วันนี้ (20 ก.พ.65) เวลา 10.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานเปิดโครงการกิจกรรมการถ่ายทอดผลการพัฒนาโดยใช้องค์ความรู้การวิจัยเพื่อการไปใช้ประโยชน์ ประเด็น "การพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากชุมชนอุโมงค์ปิยะมิตร 1 สู่ความยั่งยืน" โดยได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อประโยชน์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563-2564 โดยมีคณะทีมงานวิจัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้จัดการอุโมงค์ปิยะมิตร 1 และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน ณ ชุมชนอุโมงค์ปิยะมิตร 1 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

   รองศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มียุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เนื่องจากมองเห็นถึงต้นทุนของชุมชนปิยะมิตร1 ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่ชุมชนเศรษฐกิจท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน และสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบให้กับผู้สนใจ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนักเรียน นักศึกษาได้ด้วย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดต้นแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ควบคู่กับการบริหารจัดการด้านการเงินและบัญชีอย่างเป็นระบบ รองรับธุรกิจบริการและกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งแนะนำแนวทางการพัฒนายกระดับพืชท้องถิ่น อย่างเห็ดหลินจือดำ เป็นพืชที่พบในป่าไผ่ธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะพบเห็ดหลินจือดำขึ้นบนต้นไผ่สีทอง ซึ่งพบมากในชุมชนปิยะมิตร มีสารอาหารและสรรพคุณทางยามากมาย และเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของชุมชนปิยะมิตร ที่ทางคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่อไป

   ด้าน อาจารย์ ดร. สุกฤษตา รักสุจริต รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้กล่าวถึงประเด็นพัฒนาเสริมโฮมสเตย์ ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการ ด้านเมนูอาหารอัตลักษณ์ โดยเน้นวัตถุดิบเด่นในพื้นที่ คือ เต้าหู้ป๊อก หมี่เบตง ผักน้ำ ปลานิลน้ำไหล มาสร้างสรรค์เป็นเมนูอาหารเช้า ที่มีความแตกต่างและเต็มไปด้วยคุณค่าในพื้นที่ มีดังนี้ ข้าวหน้าเต้าหู้ป๊อกยัดไส้ไก่ย่างซีอิ้ว หมี่เบตงผักน้ำ และ ข้าวก้อนปลานิลน้ำไหล โดยเมนูดังกล่าวสามารถนำเสนอแพ็คเกจรวมกับที่พัก หรือแยกได้ จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ย้อนกลับ