เมื่อวันที่
6 ก.ค. 2022

ป้ายกำกับ

​คณะวิทยาการจัดการ ราชภัฏยะลา จัดนิทรรศการ เรื่องดี ๆ ที่นี่ก็มีนะ


คณะวิทยาการจัดการ ราชภัฏยะลา จัดนิทรรศการ เรื่องดี ๆ ที่นี่ก็มีนะ โชว์ผลงาน ซีรี่ส์ "บ้านของฉัน" กระตุ้นจิตสำนึกสาธารณะ

วันนี้ (6 ก.ค.65 ) เวลา 13.00 น. ห้องฉายภาพยนตร์ ชั้น 3 คณะวิทยาการจัดการ รองศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานเปิดนิทรรศการ เรื่องดี ๆ ที่นี่ก็มีนะ โดยจัดชมผลงาน “คลิปส่งเสริมจิตสำนึกสาธารณะ” ของนักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ ในซีรี่ส์ "บ้านของฉัน" ที่มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกสาธารณะในกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา รวมถึงเพื่อถ่ายทอดสื่อสร้างสรรค์ ซีรี่ส์ "บ้านของฉัน" ไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกสาธารณะของตนเองที่พึงมีต่อสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมี ผู้บริหาร คณาจารย์และ นักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ

อาจารย์มีนา ระเด่นอาหมัด อาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชีบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะเจ้าของโครงการ กล่าวว่า โครงการเรื่องดี ๆ ที่นี่ก็มีนะ เป็นโครงการที่ต้องการนำเสนอมุมมองด้านบวกของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในมิติ “จิตสำนึกสาธารณะ” ของเยาวชนในพื้นที่ซึ่งมีอัตลักษณ์ในด้านพหุวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแตกต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศไทย สู่สายตาของคนไทย โดยการจัดทำสื่อสร้างสรรค์ซีรีส์ "บ้านของฉัน" เป็นสื่อวีดีโอเพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ทบทวนบทบาทของตนเองที่มีต่อสังคมและเน้นย้ำให้เยาวชนใส่ใจในเรื่องจิตสำนึกสาธารณะของตนเองต่อสังคมให้มากขึ้น กระบวนการในการผลิตสื่อนั้น นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเป็นผู้ผลิตโดยมีทีมอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นโค้ชในการผลิต ตั้งแต่การเขียนเรื่องราว การผลิตสื่อ การปรับปรุงสื่อ และการเผยแพร่สื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยมีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและระดับประถมศึกษาเป็นนักแสดง ทั้งนี้ผลผลิตที่ได้ คือ สื่อวีดีโอ ซีรีส์"บ้านของฉัน" จำนวน 9 เรื่อง โดยแบ่งประเภทตามพื้นที่ถ่ายทำได้เป็น 3 จังหวัด จังหวัดละ 3 เรื่อง และแบ่งตามกลุ่มเป้าหมายได้เป็นสื่อสำหรับกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 4 เรื่อง และนักเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 5 เรื่อง โดยมีนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 9 ทีม รวมจำนวน 36 คน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  

ย้อนกลับ