ลงนาม MOUโครงการวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล ประเทศเกาหลี


มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ หน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ของประเทศเกาหลี โครงการวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จชต.

   วันนี้ (28พ.ย.62) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคณะหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ของประเทศเกาหลี และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กับ หน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ของประเทศเกาหลี โดยมี คุณกนกรัตน์ พงษ์ธัญญะวิริยา ผู้ช่วยเลขา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา นายเจษฎา จิตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายสมมาตร บารา นายอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี นายกิตติ กิตติโชควัฒนา ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ภาคีเครือข่ายต่างๆ ประกอบด้วย ภาคีภาคการเกษตร สภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสื่อมวลชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย ได้กำหนดนโยบายด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 - 2580 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านการผลิตไฟฟ้าไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) และด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) โดยมีประเด็นการใช้ขยะชุมชน และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ไว้ในแนวทางการจัดทำแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วย

   โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และสถาบันการศึกษาต่างประเทศจากสาธารณรัฐเกาหลี University of Seoul และราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย King saud university ซึ่งเป็นความร่วมมือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสายพันธุ์ไผ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การผลิตไม้ไผ่อัดเม็ดเพื่อใช้เป็นพลังงานผลิตไฟฟ้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นศูนย์กลางไผ่ของอาเซียนในการจัดหาไผ่สายพันธุ์ดีและส่งออกพันธุ์ไผ่ไปยังประเทศต่างๆ

   นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ของประเทศเกาหลี และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตไม้ไผ่พลังงานจากเนื้อเยื่อ โรงงานการผลิตไม้ไผ่อัดเม็ด และการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากไม้ไผ่ ซึ่งจะก่อสร้างที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ภายใน 3 เดือน หลังจากการลงนามฯ ทั้งนี้เพื่อให้มีพันธุ์ไผ่ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้ปลูกและส่งแปรรูปเป็นไม้ไผ่อัดเม็ดสำหรับส่งโรงงานผลิตไฟฟ้าต่อไป

ย้อนกลับ