เมื่อวันที่
5 ก.ค. 2023

ป้ายกำกับ

​ม.ราชภัฏยะลา จับมือ ศอ.บต. และวช. เปิดตัวนิทรรศการวิชาการโครงการวิจัย


ม.ราชภัฏยะลา จับมือ ศอ.บต. และวช. เปิดตัวนิทรรศการวิชาการโครงการวิจัย พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่การขับเคลื่อนเชิงธุรกิจ และเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ (5 กค.66) เวลา 09.00 น. ที่หอประชุมหลังเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมนิทรรศการวิชาการโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ โดยได้รับเกียรติจากพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สนง.การวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะผู้บริหาร นักวิจัยนักวิชาการ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม จำนวนทั้งสิ้น 350 คน

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานการวิจัยพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ต่อยอดทั้งเชิงธุรกิจ และเชิงนโยบายทั้งระยะสั้น ระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกิจกรรมวันนี้มีกิจกรรมเสวนาของตัวแทนชุมชนที่นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ จำนวน 5 ชุมชน พร้อมการนำเสนอผลงานการวิจัยจากหัวหน้าโครงการหรือตัวแทน จำนวน 9 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อการขับเคลื่อนโครงการวิจัย จชต.ตามข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.และสามารถขับเคลื่อนนำผลการวิจัยทั้งเชิงนโยบาย ปฏิบัติ พัฒนาสัมมาชีพ ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ เอื้อให้ชุมชนและสังคมมีความสุขสมบูรณ์ในทุกมิติ ซึ่งแยกประเด็นการพัฒนา ด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านนโยบายของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) อีกทั้งทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีอัตราลดน้อยลงจนหมดไปในที่สุด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัยะลา ซึ่งมีความพร้อมในทุกมิติจึงได้จัดทำโครงการเพื่อประเมินโครงการวิจัยการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้สู่ความสำเร็จ ปีที่ 2 โดยทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการวิจัยทั้งสิ้น จำนวน 27 โครงการ

น.ส.วีรินท์ พรปิยะนันทน์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาวัสดุยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ “BCG” กล่าวว่า งานวิจัยเริ่มต้นจากต้องการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขยะพวกนี้นำกลับมารีไซเคิลแล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก พร้อมกันนี้นักวิจัย นำทีมโดย ดร. ณัฐพนธ์ อุทัยพันธุ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ พบว่า ยางพาราหรือยางธรรมชาติเข้ามาช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของตัวพลาสติกให้ใช้งานได้ยาวนาน ทนทาน ยืดหยุ่น สามารถใช้งานและตอบโจทย์มากขึ้น อีกทั้งยางพาราช่วยแลกเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถลดปัญหาการใช้พลาสติก โดยนำเอาสองอย่างมาผสมรวมกัน ใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตและสมบัติของยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกจากการผสมระหว่างยางธรรมชาติกับพอลิโพรพิลีน งานวิจัยดังกล่าวสามารถส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชุมชนให้เป็นสินค้าของที่ระลึกของชุมชน นอกจากนี้ทางมอ. มีแนวคิดไปต่อยอด ช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำผลิตผลต่างๆมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไป 

*************

ภาพ/ข่าว งานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์

ย้อนกลับ