เมื่อวันที่
18 เม.ย. 2022

ป้ายกำกับ

ม.ราชภัฏยะลา เปิดบ้านโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สู่ความเป็นต้นกล้าสันติภาพ


ม.ราชภัฏยะลา เปิดบ้านโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สู่ความเป็นต้นกล้าสันติภาพ ชูหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปฐมวัย แห่งแรกของไทย สู่หน่วยปฏิบัติการวิจัย มุ่งสร้างการเรียนรู้โรงเรียนเป็นฐาน

วันนี้ (9 เม.ย.65) เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม OPEN HOUSE โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สู่ความเป็นต้นกล้าสันติภาพ พร้อมถวายเกียรติบัตรแด่ ท่านเจ้าคุณพระโสภณธรรมมุนี ดร.เจ้าอาวาส วัดนิโรธสังฆาราม รองเจ้าคณะจังหวัดยะลา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัย ผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงตัวแทนหนูน้อยนักสันติภาพ และและเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการงานวิจัย ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาต้นแบบนโยบายการศึกษาบนฐานกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเชิงสันติภาพให้กับเด็กปฐมวัย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการย่อยที่ 3 ภายใต้ชุดโครงการวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้และต้นแบบนโยบายบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สันติภาพ และยุติธรรม เพื่อสร้างสมานฉันท์และการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย โดยความร่วมมือ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ อ.ประจำคณะครุศาสตร์ มรย. ในฐานะ หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 3 กล่าวว่า ความสำเร็จทำให้เกิดหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปฐมวัย และนับเป็นแห่งแรกของประเทศที่ดำเนินการพัฒนาสมรรถนะเชิงสันติภาพให้กับเด็กปฐมวัยอย่างเป็นรูปธรรม และมีผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการวิจัยที่สำคัญ คือ รูปแบบการจัดประสบการณ์เรียนรู้ สันติภาพยกกำลังสอง หรือ โมเดล PEACE ยกกำลังสอง ที่ประสานความร่วมมือการเรียนรู้โรงเรียนเป็นฐาน ประสานบ้านและชุมชน ตลอดจนการพัฒนาสื่อประกอบการเรียนรู้ชุดหนูน้อยนักสันติภาพ และนิทานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ ทั้งในระบบออนไลน์ การสอนปกติได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดหน่วยปฏิบัติการวิจัย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลเบตง(สุภาพอนุสรณ์) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โรงเรียนบ้านศรีท่าน้ำ อำเภอธารโต จังหวัดยะลา โรงเรียนเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โรรงเรียนบ้านเกาะแลหนัง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และที่สำคัญโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นสถานศึกษาปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและพัฒนาของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 

ย้อนกลับ