เมื่อวันที่
19 เม.ย. 2023

ป้ายกำกับ

มรภ.ยะลา จับมือ คณะวิทยาศาสตร์ มอ. ลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการด้าน ISO/IEC 17025:2017


วันนี้(18 เม.ย.66) เวลา 13.30 น. ศูนย์วิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการด้านการบริการตรวจวิเคราะห์/ทดสอบตัวอย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระบบประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการ (ISO/IEC 17025:2017) ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนางสาวผุสดี มุหะหมัด หัวหน้าศูนย์บริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน ผู้แทนคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์จริยา สุขจันทรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการด้านการบริการตรวจวิเคราะห์/ทดสอบตัวอย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระบบประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการ พร้อมมีอาจารย์ ดร.ภัทรวดี เอียดเต็ม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ คณะผู้บริหารคณาจารย์ บุคลากร และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสภา ชั้น 2 อาคาร 20 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จริยา สุขจันทรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการด้านการบริการตรวจวิเคราะห์/ทดสอบตัวอย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระบบประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการ (ISO/IEC 17025:2017) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการ ระบบการทดสอบตัวอย่างและรับรองมาตรฐานของ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อให้เป็นศูนย์บริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานที่สามารถดำเนินการวิเคราะห์ ทดสอบผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ ยกระดับศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการ และร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมด้านอื่น ๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร

ด้าน อาจารย์ ดร.ภัทรวดี เอียดเต็ม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับขอบเขตของบันทึกความเข้าใจทางวิชาการดังกล่าวนั้นเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการ ระบบการทดสอบตัวอย่างและการรับรองมาตรฐาน โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขั้นตอน กระบวนการ รวมถึงนวัตกรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองฝ่าย และบูรณาการด้านการบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบ และการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ทั้งสองฝ่าย

ย้อนกลับ