เมื่อวันที่
22 มี.ค. 2022

ป้ายกำกับ

มรย. จับมือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ลงนาม MOU ด้านการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น


มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จับมือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อบต.ตาเนาะแมเราะ และอัยเยอร์เวง ลงนาม MOU ด้านการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

วันนี้ (22 มี.ค.65) เวลา 10.00 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระหว่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ) องค์การบริหารส่วนตำบลตาเนาะแมเราะ และองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วย พลเอกมณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล/ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผู้แทน แม่ทัพภาคที่ ๔) คุณวิรัต แซ่ตัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาเนาะแมเราะ และคุณอารี หนูชูสุข ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง (ผู้แทนนายก อบต.ฯ) ร่วมลงนามในครั้งนี้ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ พันเอกสุธรรม กังแฮ ผู้อำนวยการกองภาคประชาสังคม ศูนย์สันติวิธี กอ.รอมน พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา และตัวแทนจาก 4 หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสภาชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและผ่านระบบ Google Meet

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าววัตถุประสงค์ของการลงนามเพื่อประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการพระบรมราโชบาย โครงการตามนโยบายของรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มั่นคง พัฒนาการเกษตรอย่างมั่งคั่ง และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงาม เสริมสร้างสังคมแห่งความสมานฉันท์ เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม และร่วมมือกันพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ องค์ความรู้จากผลงานวิจัย และนวัตกรรม โดยบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ในการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย และนวัตกรรมไปขยายผล ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน เพื่อการพัฒนา/แก้ไขปัญหา พัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินงานภายใต้ แผนงาน Flagship ของมหาวิทยาลัย ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการ ณ ชุมชนปิยะมิตร 1 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอ เบตง จังหวัดยะลา โดยได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ สนับสนุนการจัดการศึกษาผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ พัฒนางานวิจัย และเป็นหนึ่งในอำเภอตามหลักการโครงการ “เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ประกอบกับศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของชุมชน และความพร้อมด้านสภาพแวดล้อม ที่สามารถพัฒนาและต่อยอดการเป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และพัฒนาอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในด้านองค์ความรู้จากการดำเนินงานวิจัย มีความพร้อมด้านบุคลากรในการให้บริการทางวิชาการวิชาการ และเมื่อผนวกกับศักยภาพของภาคีเครือข่ายแล้ว สามารถที่จะพัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพ

ย้อนกลับ