เมื่อวันที่
3 ก.ค. 2023

ป้ายกำกับ

มรย. จับมือ อบต.ลำพะยา ขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ


วันนี้(3 ก.ค. 66) เวลา 10.30 น. สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดพิธีลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาท้องถิ่นชุมชนและสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ.) ระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากับองค์การบริหารส่วนตำบลลำพะยา โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงกับนายทนง ไหมเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำพะยา โดยมีผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จริยา สุขจันทรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ ในนามของคณะกรรมการดำเนินงาน กล่าวว่า เนื่องด้วยศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ดำเนินโครงการวิจัย บริการวิชาการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ในพื้นที่ตำบลลำพะยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-ปัจจุบัน ซึ่งเล็งเห็นแล้วว่าองค์การบริหารส่วนตำบลลำพะยา เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความร่วมมือ ในการดำเนินงานของศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพฯ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นอย่างดีมาโดยตลอด จึงทำให้ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพฯ ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดกิจกรรม และแผนกิจกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นชุมชน และสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ในท้องถิ่นชุมชนพื้นที่ตำบลลำพะยาและพื้นที่เครือข่ายร่วมกันดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นชุมชน และสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ.) และร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริม พัฒนา และเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชน และสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ.)

ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินงานดังกล่าวมหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายในการที่จะพัฒนาบุคลากรทั้งสองหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยมีกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นชุมชนลำพะยา และกิจกรรมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ใน 8 กิจกรรมที่อยู่ภายใต้ 3 กรอบการดำเนินงาน และ 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา นำไปสู่“มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ เป็นเลิศในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนสู่สากล” ต่อไป

ย้อนกลับ