เมื่อวันที่
6 ก.ค. 2023

ป้ายกำกับ

​มรย. เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน


มรย. เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน ชูวิจัย "ยกระดับเศรษฐกิจร่วมของเมืองชายแดน และวิจัย "การพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรเลี้ยงไก่เบตง" ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภาคใต้ชายแดนให้มีความเข้มแข้ง มั่นคง และยั่งยืน

  วันนี้ (6 ก.ค.66) เวลา 13.15 น. ณ ห้องประชุมศรียะลา อาคาร 3 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน โครงการวิจัย "การยกระดับเศรษฐกิจร่วมของเมืองชายแดนจังหวัดยะลาและนราธิวาส เพื่อยกระดับรายได้ของพื้นที่ชายขอบ" โครงการวิจัย "การพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรเลี้ยงไก่เบตงในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน" โดยมี นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา / หัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน เป็นประธานเปิดและรับฟังข้อเสนอแนะโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กล่าวต้อนรับ พร้อมทั้งหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน และคณะกรรมการโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรันดิ์เกียรติ ลิ่วคุณูปการ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา /หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจร่วมของเมืองชายแดนจังหวัดยะลาและนราธิวาสเพื่อยกระดับรายได้ของพื้นที่ชายขอบ ภายใต้กรอบการวิจัย “การยกระดับเศรษฐกิจร่วมของพื้นที่ชายแดน” และโครงการวิจัยการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรเลี้ยงไก่เบตงในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อสร้างชุมชน นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ภายใต้กรอบการวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน มีพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน พ.ศ.2566 - 2570 ที่มุ่งเน้นความเป็น “ศูนย์กลางการเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรรมการค้าชายแดน บนสังคมพหุวัฒนธรรมเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทุกมิติทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์แผนพลิกโฉมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

   “ดังนั้นโครงการวิจัยทั้งสองโครงการ ถือว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ที่เห็นผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างความมั่นคงในทุกมิติ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนให้มีความเข้มแข้ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรันดิ์เกียรติ ลิ่วคุณูปการ กล่าวทิ้งท้าย 

 **************

ภาพ/ข่าว งานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์

ย้อนกลับ