เมื่อวันที่
1 ธ.ค. 2023

ป้ายกำกับ

มรย.จัดงาน Grand Opening SRA YALA “ซือแน ฮาตี ดีกรงปินัง”เกษตรกรรมและงานช่างสำหรับคนเมือง


เมื่อวันที่ 30 พ.ย.66 ที่ผ่านมา เวลา 14.30 น. ที่ว่าการอำเภอกรงปินัง ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดงาน Grand Opening SRA YALA “ซือแน ฮาตี ดีกรงปินัง” กิจกรรมภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “เกษตรกรรมและงานช่างสำหรับคนเมือง” เพื่อขจัดความยากจน สร้างโอกาสทางสังคม สู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากนายอำนาจ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย นายยงยุทธ นิชลานนท์ นายอำเภอกรงปินัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายวิชาพร ชินประพัทธ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนยะลา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ท้องที่ท้องถิ่น และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา กาเด็ม อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “เกษตรกรรมและงานช่างสำหรับคนเมือง” เป็นโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมจังหวัดยะลา ซึ่งได้รับงบสนับสนุนโครงการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกและแรงบันดาลใจในการหลุดพ้นจากความยากจน ประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรและงานช่าง ศึกษาแนวทาง วิธีการ การสร้างเครือข่ายและพัฒนากลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ศึกษาแนวทางและกลไกของการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำภายใต้ภาคีเครือข่ายความร่วมมือแบบองค์รวม และพัฒนาโมเดลแก้จน (Operating Model) ระดับพื้นที่ที่เหมาะสมกับศักยภาพของคนจนเป้าหมายและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่ทำให้คนจนหลุดพ้นความยากจน ตามกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Strategic Research Area forPoverty Alleviationand Social Mobility;SRA) ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในการพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ครัวเรือนยากจน ในอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา

หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ยังกล่าวต่ออีกด้วยว่า การดำเนินงานครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากข้อมูล TPMAP (ที-พี-แมพ) ปี 2562 และถูกพัฒนายกระดับข้อมูลด้วยการสำรวจทุนการดำรงชีพจากระบบจัดการความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด หรือ PPPConnext ที่ได้สะท้อนความโดดเด่นของข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับทุนการดำรงชีพ 5 ด้าน พื้นที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ซึ่งทุนที่มีศักยภาพสูงสุด คือ ทุนมนุษย์ รองลงมา คือ ทุนกายภาพ และทุนเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้เป็นการผสานความร่วมมือในการบูรณาการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากับภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา

นอกจากนี้ ยังได้มอบชุดผักยกแคร่ให้กับตัวแทนครัวเรือนกลุ่มเป้าหมาย การสาธิตการใช้เทคโนโลยี (App Tech) ด้านการเกษตร การสาธิตการทำแคร่ปลูกผักโดยวิสาหกิจชุมชนปลูกไผ่ บ้านแปแจง ต.สะเอะ อ.กรงปินัง นิทรรศการด้านงานช่างก่อสร้าง ปูนปั้น จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา การออกแบบผลิตภัณฑ์ ผ้ามัดย้อม ของดีของเด่นประจำชุมชน พร้อมทั้งการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน

ย้อนกลับ